วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย พบมากในเด็กอายุ 2 - 10 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ จะพบน้อยมาก ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่อาจพบได้บ้างประปราย อาการมักไม่รุนแรง และมักระบาดในช่วงฤดูฝนที่มียุงลายชุกชุม
สาเหตุของการเกิดไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมียุงลายเป็นพาหะสำคัญ ยุงลายชอบกัดคนในเวลากลางวัน กล่าวคือยุงลายจะกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก่อน แล้วจึงจะไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียง ยุงชนิดนี้ชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น น้ำในตุ่ม จานรองตู้กับข้าว ฝากะลา หลุมที่มีน้ำขัง
อาการ เมื่อเป็นไข้เลือดออกแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูงผู้ป่วยจะมีไข้สูง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน มีลักษณะไข้สูงลอยตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ปวดศรีษะ กระหายน้ำ ซึม มักมีอาการเบื่ออาหาร และอาเจียนร่วมด้วยเสมอ กินยาลดไข้ก็จะไม่ลด ในบางรายจะมีอาหารปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ ชายโครงขวา บางคนอาจมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว แขนและขา อาจจะพบรอยจ้ำเขียวด้วยก็ได้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง  2-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรงไข้จะลดในวันที่ 5 - 7
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออกอาการจะเกิดระหว่างวันที่ 3-7 ของโรค อาการไข้จะลดลง แต่คนไข้จะมีอาการปวดท้อง และอาเจียน บ่อยขึ้น ซึม กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะบ่อย ชีพจรเบา เต้นเร็ว ความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการช็อก ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่รู้สึกตัว ปากเขียวคลำชีพจรไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะเลือดกำเดาออก อาเจียนเป็นเลือด มีจุดเลือดออกตามผิวหนังระยะที่ 2 นี้ จะกินเวลา 2 - 3 วัน ถ้าหากผู้ป่วยไม่เสียชีวิต ก็จะสามารถผ่านช่วงวิกฤตไปได้
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัวในรายที่ผ่านระยะที่ 2 แล้ว อาการก็จะค่อยดีขึ้นกลับเข้าสู่สภาพปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มกินอาหารได้ อาการปวดท้องจะลดลง อาการเลือดออกจะค่อย ๆ ดีขึ้น
อาการแทรกซ้อน
นอกจากภาวะเลือดออกรุนแรง ภาวะช็อคแล้วอาจะป็นปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ แทรกซ้อนได้ หรืออาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำได้

ถ้าท่านสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรปฏิบัตตัวดังต่อไปนี้
1. กินยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาจำพวก แอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย
2. นอนพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมาก ๆ
3. เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการดังกล่าวมาข้างต้น ควรพบแพทย์
4. ในรายที่ปวดท้องมาก อาเจียน รับประทานไม่ได้ กระสับกระส่าย ควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
การป้องกันไข้เลือดออกสามารถทำได้ดังนี้
1. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ปิดฝาโอ่งน้ำและล้างโอ่งน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จานรองตู้กับข้าว ควรใส่ทรายอะเบทลงไปหรือเทน้ำเดือดทุก ๆ สัปดาห์ หรือเกลือแกง 2 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว ควรเก็บกระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ๆ ทิ้งเพื่อจะไม่เป็นที่ขังของน้ำ
2.  ระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น ควรนอนกลางมุ้ง หรือ ทายากันยุง
อาการที่เป็นสัญญาณอันตราย ซึ่งต้องสังเกตอย่างใกล้ชิด ได้แก่  อาการกระสับกระสาย หรือ ซึมมากปวดท้องตรงยอดอกหรือลิ้นปี่อาเจียนมากมือเท้าเย็น เหงื่อออกมากหายใจหอบ ปาก และ เล็บเขียวมีรอยจ้ำตามตัวหลายแห่ง ถ้าพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพบแพทย์โดยเร็ว

ขอบคุณสาระดีๆ จากโรงพยาบาลแมคคอร์มิค http://www.mccormick.in.th

1 ความคิดเห็น: